ถนนที่ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ นำเราสู่อีกหนึ่งอดีตราชธานีของพม่า นามว่า อมรปุระ (Amarapura) ซึ่งเป็นราชธานีอันดับที่ 4 ของราชวงศ์คองบอง ที่พระเจ้าโบดอว์พญา (Bodawpaya) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ พระเจ้าปดุง ทรงก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2325 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เพียงไม่กี่สิบปี ชาวพม่าก็ย้ายเมืองหลวงอีกถึง 3 ครั้ง จากอมรปุระ สู่มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง และเนปิดอร์ ในขณะที่กรุงรัตนโกสินทร์ของไทย ยังคงเป็นเมืองหลวง ที่มีอายุยาวนานกว่า สองร้อยปี
คำว่า อมร นั้นเป็นภาษามอญ แปลว่า อมตะ ส่วนคำว่า ปุระ แปลว่า เมือง ฉะนั้น อมรปุระ จึงหมายถึงเมืองแห่งความอมตะ ทำให้อดีตราชธานีแห่งนี้ เป็นที่ฝังพระอัฐิของกษัตริย์พม่าถึง 3 พระองค์ คือ พระเจ้าปดุง พระเจ้าบาจีดอว์ และพระเจ้าธาราวดี รวมถึงพระอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งสันนิษฐานกันว่า ถูกฝั่งไว้ในสถูปเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากสะพานอูเบ็ง และเรากำลังไปยังที่แห่งนั้น ไม่ใช่เพื่อชมสุสานของกษัตริย์แต่ละพระองค์ แต่เพื่อชมความงามของอาทิตย์อัสดงที่สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก
บนเส้นทางสู่สะพานอูเบ็งผ่านบริเวณที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชวัง แต่ในปัจจุบันนี้แทบไม่เหลือร่องรอยแห่งอดีต โดยเมื่อครั้งย้ายราชธานีมายังกรุงมัณฑะเลย์ ในปีพ.ศ.2400 พระเจ้ามินดงทรงให้เคลื่อนย้ายมวลหมู่พระตำหนักจากพระราชวังอมรปุระมายังพระราชวังมัณฑะเลย์ แต่พระองค์ไม่อาจทรงรู้ว่าอีก 88 ปีให้หลัง หมวดหมู่พระตำหนักเหล่านั้นจะถูกเผาวอดวายจากไฟแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2
มิวมิวจอดรถที่เชิงสะพานอูเบ็ง แต่เนื่องจากมีเวลามากพอก่อนจะถึงเวลาที่พระอาทิตย์อัสดง เราจึงไม่รีบร้อนที่จะเดินไปยังสะพาน โดยแวะเที่ยวชมวัดตองมินจี (Taung Mingi) ซึ่งเป็นวัดเก่ากันก่อน สองฟากฝั่งของทางเดินเข้าวัดนั้นมีมณฑปเก่าแก่ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ห่มจีวรสีแดง พระวรกายสีเหลืองสด ซึ่งแม้พระพุทธรูป 2 องค์ที่ประดิษฐานอยู่คนละมณฑปจะมีลักษณะเหมือนกัน โดยเป็นปางมารวิชัยทั้งคู่ แต่องค์หนึ่งมีพระพักตร์บึ้งตึง ในขณะที่อีกองค์กลับมีพระพักตร์ยิ้มอย่างเห็นได้ชัด เหมือนจะบอกผู้มานมัสการว่าทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ มักมีสองด้านเสมอ
แล้วแท่งก็อดรนทนไม่ไหว ขอตัวออกจากวัด ไม่ใช่เพราะเข้าวัดแล้วร้อน แต่เพื่อไปชมความยิ่งใหญ่ของสะพานอูเบ็ง ส่วนผมเลือกเดินเข้าไปนมัสการพระประธาน ภายในวิหารหลังใหญ่ก่อน โดยพระประธานภายในวิหารนั้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาว ที่สร้างขึ้นใหม่ โดยมีขนาดใหญ่มาก จนต้องแหงนคอตั้งบ่า จึงจะสามารถเห็นถึงพระพักตร์เบื้องบน
แล้วก็ถึงเวลาไปชมสะพานอูเบ็ง (U Bein) กันเสียที เดิมทีผมคิดไปเองว่า สะพานอูเบ็งคงไม่ต่างจากสะพานไม้อุตตะมานุสรณ์ ที่สังขละบุรีมากนัก แต่เมื่อสองเท้าได้ก้าวเดิน สองตาได้สัมผัส ผมจึงได้รับรู้ว่า สะพานอูเบ็งนั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก เพราะไม้ที่ใช้สร้างสะพานแห่งนี้ล้วนเป็นไม้สักทั้งสิ้น อีกทั้งไม้สักลำใหญ่ๆนี้ พระเจ้าปดุงทรงสั่งให้รื้อถอนมาจากพระราชวังแห่งกรุงสะกาย และกรุงอังวะ ในปีพ.ศ.2392 รวมแล้วถึง1208 ต้น โดยมีความยาวถึง 1200 เมตร ในการทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน (Taungthaman) จึงสมควรแล้ว ที่สะพานแห่งนี้จะถูกจัดให้เป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก เพราะในโลกนี้จะมีสักกี่คน ที่คิดรื้อวังเก่ามาสร้างสะพานเหมือนพระเจ้าปดุง
ผมเดินตามแผ่นไม้กระดานที่ตีเป็นทางราบ โดยมีเสาไม้สักขนาดใหญ่รองรับ ใจหนึ่งก็นึกเสียดายพระราชวังแห่งกรุงอังวะ และสะกาย แต่อีกใจหนึ่งกลับกำลังดื่มด่ำความงดงามของสะพานที่ทอดตัวบนทะเลสาบที่กว้างใหญ่
Advertisement
บนผิวน้ำที่ใสดุจกระจกนี้ มีฝูงเป็ดกำลังแหวกว่าย เรือลำน้อยบางลำกำลังหาปลา ในขณะที่เรืออีกหลายลำกำลังพาผู้มาเยือนให้ชื่นชมและสัมผัสทะเลสาบตองตะมานอย่างใกล้ชิด และไกลออกไปในทิศตะวันออก แลเห็นยอดสีทองของเจดีย์พาโตดอจี และเจดีย์ชเวลินพิน ที่สะท้อนเงาบนผิวน้ำที่สงบนิ่ง
ในเวลานี้มีผู้คนมากมายที่เดินไปทางเดียวกับผม ในขณะที่อีกหลายคนเดินสวนทางมา ส่วนใหญ่ของผู้คนเหล่านั้น ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ที่มาเยือนเพียงชั่วครู่ชั่วยามแล้วจากไป แต่เป็นชาวบ้านที่ใช้สะพานนี้สัญจรเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ในทุกเย็นจึงมีเด็กน้อยเดินหิ้วปิ่นโตกลับจากโรงเรียน คุณลุงแก่ๆเดินจูงจักรยานกลับบ้าน พระสงฆ์เดินกลับวัด และไกลออกไปทางทิศตะวันตก พระอาทิตย์เตรียมตัวเดินทางกลับทิวเขาที่ทอดตัวยาว
ผมเลือกที่จะลงไปชมพระอาทิตย์ที่กำลังลาลับขอบฟ้า บนแผ่นดินริมทะเลสาบ ในช่วงที่เรามานี้ เป็นช่วงที่ผ่านพ้นฤดูฝนมานานหลายเดือน ทำให้น้ำในทะเลสาบไม่ได้แผ่ตัวกว้างจนสุดริมตลิ่ง จึงเกิดสันดอนอันอุดมสมบูรณ์ริมทะเลสาบ ซึ่งชาวบ้านใช้ความอุดมสมบูรณ์นี้เพื่อการเพาะปลูก
ผมเดินไปตามแนวร่องของแปลงผัก เพื่อเลือกตำแหน่งที่ดีที่สุด ในการเฝ้ารอดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า แล้วเวลาแห่งการรอคอยก็มาถึง พระอาทิตย์ดวงโตเปล่งแสงสีส้มอันอ่อนละมุน จนกลืนแผ่นฟ้ารอบข้างให้กลายเป็นสีเดียวกัน และเมื่อมองลงมายังแผ่นน้ำแห่งทะเลสาบตองตะมานก็บังเกิดพระอาทิตย์อีกดวง สะท้อนเงาเคียงคู่ โดยมีเสาไม้สักของสะพานอูเบ็งนับร้อยนับพันเสา ตั้งแถวเรียงรายรอส่งดวงอาทิตย์ที่กำลังเดินทางข้ามพ้นขอบฟ้า จนหายลับไปในทิวเขาที่อยู่ไกลออกไป
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 20.50 น.